ปกหนังสือคือหน้าตาที่เห็นเป็นอันดับแรก ว่ากันว่าคนจะหยิบหนังสือหรือไม่ก็วัดกันที่หน้าปกนี่ล่ะ การออกแบบหน้าปกที่ดี ควรต้องคำนึงถึงว่าเมื่อผลิตเป็นงานจริงแล้วหน้าตาจะเป็นอย่างไร ลูกค้าสามารถหยิบหนังสือเล่มใด ๆ ก็ได้ที่ใกล้เคียงกับงานที่ทำอยู่จากชั้นหนังสือมาพิจารณาแล้วลองนึกภาพดูว่า ถ้างานที่เราออกแบบมานั้น ถูกผลิตจริงเป็นหนังสือแบบที่เห็นในมือ จะมีหน้าตาอย่างไร ควรจะเว้นระยะห่างตรงไหน อย่างไรบ้าง จะช่วยได้เยอะครับ แต่สำหรับโรงพิมพ์แล้ว เราก็มักจะพบกับข้อผิดพลาดที่ลูกค้ามักจะทำพลาดมากันบ่อย ๆ ลองมาดูกันว่า 10 เช็คลิตส์ที่ลูกค้าควรเช็คงานให้ดีก่อนปล่อยพิมพ์มีอะไรบ้าง ทั้งนี้ทางโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. ก็จะใช้เช็คลิตส์เหล่านี้ในการตรวจงานเหมือนกันครับ
สำหรับลูกค้าที่ต้องการพิมพ์เช็คลิสต์ไปใช้งาน สามารถดาวโหลดเช็คลิสต์ได้ที่นี่
1. ขนาดงาน
ควรเซ็ตหน้างานให้ตรงกับขนาดที่ตกลงกันไว้กับโรงพิมพ์ตามใบเสนอราคา หรือติดต่อสอบถามก่อนทุกครั้งหากไม่แน่ใจ ยกตัวอย่างเช่น หนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คส์ขนาด A5 ในขณะที่ขนาด A5 ตามมาตรฐาน ISO จะเป็น 148 x 210 มม. แต่ขนาดสำเร็จในมาตรฐานโรงพิมพ์ในเมืองไทยจะเป็น 145 x 210 มม. โรงพิมพ์จะใช้ขนาด 145 x 210 มม. เป็นหลักนะครับ หรือขนาด A4 ตามมาตรฐาน ISO คือ 210 x 297 มม. แต่มาตรฐานโรงพิมพ์จะเป็น 210 x 292 มม. ดังนั้นขนาดสำเร็จของหนังสือทั้งเนื้อในและหน้าปกก็ควรจะมีขนาดที่ถูกต้องเช่นกัน
2. ตัดตก
ปกหนังสือที่ส่งมาให้กับโรงพิมพ์ ควรจะต้องมีการเซ็ตขนาดตัดตกเผื่อเจียนมาไว้แล้ว (ตัดตกเผื่อเจียนคืออะไรอ่านได้จากที่นี่) สำหรับงานไหนที่ทางโรงพิมพ์ไม่สามารถสร้างพื้นที่ตัดตกเองได้ ถ้าตรวจพบ จะแจ้งเตือนลูกค้าให้กลับไปแก้งานใหม่ครับ
3. โปรไฟล์สี
งานที่จะส่งพิมพ์ในระบบออฟเซ็ต ต้องใช้ระบบสี CMYK เท่านั้น ภาพหลายภาพที่ลูกค้าดาวโหลดมาจากอินเตอร์เนทนั้นเป็นระบบสี RGB ซึ่งบางครั้งนำมาออกแบบ แต่ไม่ได้แปลงระบบสีมาให้โรงพิมพ์ พอนำมาพิมพ์จริงแล้วสีเพี้ยนนะครับ แนะนำให้ตั้งค่าระบบสีให้ถูกต้องก่อนเริ่มงานทุกครั้งครับ สำหรับงานที่พิมพ์ปกสีเดียว (ขาวดำ) รูปที่เป็นขาวดำก็ต้องเป็นดำเดี่ยว (Greyscale) ไม่ใช่สีดำ 4 เม็ด
4. ความหนาหนังสือ / ขนาดสัน
ความหนาของหนังสือ (ขนาดสันหนังสือ) จะแปรผันตามจำนวนหน้าหนังสือ และชนิดของกระดาษที่ใช้ ซึ่งถ้าไม่ทราบ ลูกค้าสามารถติดต่อสอบถามกับเจ้าหน้าที่ของโรงพิมพ์ได้ครับ สำหรับลูกค้าที่ต้องการออกแบบมาเลย ให้ทำสันเผื่อให้เยอะมาไว้ก่อนนะครับ และต้องทำแบบให้สามารถแก้ไขงานได้มาด้วยนะครับ ไม่ต้องรวมเลเยอร์มา ไม่ได้เซฟมาเป็นภาพ JPG ภาพเดียว ไม่อย่างนั้นทางโรงพิมพ์จะแก้ไขความหนาให้ไม่ได้
5. ตำแหน่งข้อความ รูปภาพ
ชื่อหนังสือ / ตัวหนังสือ / คำบรรยายต่าง ๆ / ราคา / บาร์โค้ด / ชื่อผู้แต่ง / รูปภาพ / ฯลฯ ควรจะเว้นให้ห่างจากขอบกระดาษทุกด้านอย่างน้อย 8-10 มม. การที่วางตัวหนังสือชิดขอบกระดาษมากเกินไป นอกจากจะทำให้ภาพรวมของงานดูรก อึดอัดคับแคบแล้ว ยังมีโอกาสที่จะโดนตัดทิ้งอันเนื่องมาจากกระบวนการพิมพ์ด้วยนะครับ โรงพิมพ์จะแจ้งให้ลูกค้าทราบว่ามีจุดใดที่ควรแก้ไข ขยับ ปรับตำแหน่ง เพื่อให้ลูกค้าได้แก้ไขก่อนพิมพ์ครับ
6. ตำแหน่ง SPOT UV / ปั๊มนูน
สำหรับงานหน้าปกหนังสือที่มีใส่ SPOT UV หรือปั๊มนูนเอาไว้ หากไม่ได้ทำ Layer SPOT UV หรือปั๊มนูนแยกมาต่างหาก ทางโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. สามารถดำเนินการสร้าง Layer SPOT UV ให้ได้ด้วยโปรแกรม Illustrator / Photoshop แต่ลูกค้าจะต้องระบุตำแหน่งให้ทางโรงพิมพ์ด้วยนะครับ สำหรับในกรณีที่ลูกค้าสร้าง Layer SPOT UV หรือปั๊มนูนมาให้เอง จะต้องสร้างมาเป็น Layer สีดำเดี่ยว (K100) ถมดำเท่านั้น อ่านรายละเอียดต่อได้ในหัวข้อการสร้าง Layer SPOT UV ทางโรงพิมพ์จะเช็คตำแหน่งงานให้ว่างตรงหรือไม่อย่างไรครับ
7. ตำแหน่งปั๊มฟอยล์
คล้ายกันกับการสร้าง Layer SPOT UV / ปั๊มฟอยล์ แต่แตกต่างกันที่เนื้องานจะต้องถมสีหรือเว้นว่างด้วย ทางโรงพิมพ์จะเช็คตำแหน่งปั๊มฟอยล์ให้ว่าตรงตามที่ลูกค้าต้องการหรือไม่ และเนื้องานมีการถมสี หรือเว้นว่างมาหรือเปล่า อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหัวข้อการสร้าง Layer ปั๊มฟอยล์
8. Barcode / QR Code
งานปกหนังสือที่มี Barcode หรือ QR Code ในกรณีที่โรงพิมพ์ทำ Barcode ให้มักจะไม่ค่อยมีปัญหาใด ๆ แต่ถ้าลูกค้าต้องการทำ Barcode มาเอง ต้องระวังอยู่ 2-3 จุดเช่น ตัว Barcode ต้องเป็นสีดำเดี่ยวเท่านั้น (ดำเดี่ยวคืออะไรอ่านได้จากที่นี่) ต้องเป็นไฟล์ Vector เท่านั้น ห้ามสร้างจาก Photoshop เพราะแท่งบาร์โค้ดจะไม่คมชัด อาจจะมีปัญหาในตอนสแกนได้ ถ้าลูกค้าสร้างบาร์โค้ดมาเอง ทางโรงพิมพ์ไม่มีกรรมวิธีตรวจสอบว่าจะสแกนได้หรือไม่ จะพิมพ์ตามที่ได้รับมานะครับ ดังนั้นลูกค้าต้องมั่นใจใน Barcode หรือ QR Code ที่ส่งโรงพิมพ์ด้วยนะครับ
9. เส้นรอยพับปก
หนังสือที่เข้าเล่มแบบไสกาวและหนังสือปกแข็ง จะต้องมีรอยพับปกทุกเล่ม โดยปกติรอยพับนี้จะกินพื้นที่จากสันหนังสือเข้ามาประมาณ 8-10 มม. (แล้วแต่ความหนาของหนังสือ) ลูกค้าบางท่านก็จงใจออกแบบกราฟฟิคให้ยื่นออกมาในบริเวณนี้ ในขณะที่ลูกค้าบางรายอาจจะเห็นว่า การมีรอยพับมาทับกราฟฟิคหรือตัวหนังสือ หรือตำแหน่ง SPOT UV ตำแหน่งปั๊มฟอยล์ แล้วดูไม่สวยงาม ทางโรงพิมพ์จะไม่มีทางทราบได้เลยว่า ลูกค้าแต่ละท่านคิดอย่างไรกับเนื้อหาตรงรอยพับนี้ ดังนั้นลูกค้าทุกท่านควรคำนึงถึงจุดนี้เอาไว้ด้วยนะครับ
10. ปีกปก
ในกรณีที่หนังสือมีปีกปก หรือมีปกพิเศษซ้อนพับทับกันอยู่ ในกรณีนี้จะต้องออกแบบตัวปีกเป็นพิเศษ สำหรับหนังสือที่มีปีกปกจะต้องบวกขนาดหน้าปกออกไปอีก 2 มม. ยกตัวอย่างเช่น หนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คส์ขนาด A5 (145 x 210 มม.) ถ้าปกมีปีก จะต้องตั้งค่าความกว้างปกไว้ที่ 147 x 210 มม. (สำหรับทั้งปกหน้าและปกหลัง) ถ้าหนังสือเล่มนี้หนา 10 มม. เวลาตั้งค่าหน้ากระดาษในโปรแกรม Illustrator ก็จะมีขนาดดังนี้
- หนังสือขนาด A4 (210 x 292 มม.) ต้องตั้งค่าหน้ากระดาษเป็น : กว้าง 212 + 10 + 212 = 434 x สูง 292 มม.
- หนังสือขนาด A5 (145 x 210 มม.) ต้องตั้งค่าหน้ากระดาษเป็น : กว้าง 147 + 10 + 147 = 304 x สูง 210 มม.
- หนังสือขนาด B5 (182 x 257 มม.)ต้องตั้งค่าหน้ากระดาษเป็น : กว้าง 184 + 10 + 184 = 378 x สูง 257 มม.
- อย่าลืมตั้งค่าตัดตก (Bleed) ออกไปอีกด้านละ 3 มม. ด้วยนะครับ