การพิมพ์ด้วยระบบออฟเซ็ตคือการพิมพ์ด้วยระบบสี CYMK หมายความว่าภาพที่เกิดจากการพิมพ์นั้น เกิดจากการซ้อนทับกันของแม่สีเพียง 4 สีเท่านั้น (ฟ้า เหลือง ชมพูแดง ดำ) ซึ่งการผสมแม่สีทั้ง 4 นี้สามารถก่อให้เกิดสีอื่น ๆ ได้นับล้านสีรวมถึงเฉดสีดำด้วยครับ ดังนั้นการที่เราเลือกสีดำมาใช้ในโปรแกรมต่าง ๆ เช่น Adobe Illustrator นั้น สีที่เห็นอาจจะดูว่าเป็นสีดำก็จริง แต่จริง ๆ แล้วอาจจะไม่ใช่สีดำเสมอไปครับ สำหรับโรงพิมพ์แล้ว เวลาพูดถึงสีดำจะหมายถึงสีดำเดี่ยว ๆ 100% (K100) ครับ

การพิมพ์ 4 สีในระบบออฟเซ็ต

การพิมพ์ 4 สีในระบบออฟเซ็ต

เพราะสำหรับการพิมพ์สีดำในระบบออฟเซ็ตนั้น สามารถทำได้ 2 วิธี คือพิมพ์สีดำเดี่ยว ๆ 100% (K100) และการพิมพ์สีดำแบบผสม 4 สีเข้าด้วยกัน (CMYK) โดยเราจะเรียกดำประเภทนี้ว่า Rich Black หรือดำ 4 เม็ด ซึ่งการพิมพ์ดำแบบนี้ไม่จำเป็นที่สีดำ (K) จะต้องมี % สีที่ 100 เสมอไปนะครับ จะเป็นเท่าไหร่ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 60-100% อัตราส่วนของ CMYK ที่จะทำให้เกิดสีดำขึ้นได้นั้นมีได้หลายหลายมาก ซึ่งถ้า % ของสีไหนโดดเด่นขึ้นมา เช่น C80 M50 Y60 K75 สีดำนี้ก็จะอมฟ้าอยู่เล็กน้อย อาจจะสังเกตได้ยากซักหน่อยหากไม่ได้มีงานมาวางเทียบกัน แต่ถ้านำมาวางเทียบกับสีดำ C50 M80 Y60 K75 (ดำอมแดง) แล้วสังเกตดี ๆ คนที่ตาดีหน่อยก็จะพอบอกได้ว่ามีความแตกต่างกันอยู่ครับ สำหรับการพิมพ์ภาพกราฟฟิคทั่ว ๆ ไปนั้น การพิมพ์ดำแบบ 4 เม็ดจะทำให้เกิดความดำสนิท ดูมีมิติได้มากกว่าการพิมพ์แบบดำเดี่ยว (K100) อยู่พอสมควร โดยมากงานที่เป็นภาพและกราฟฟิคก็มักจะใช้สีดำ 4 เม็ดอยู่แล้ว การพิมพ์ดำเดี่ยวมักจะใช้ในการพิมพ์งาน 1 สี หรือใช้ในการพิมพ์ตัวอักษรสำหรับอ่าน ภาพขาวดำที่พิมพ์ด้วยสีดำสีเดียว จะดูแบน ดูไม่มีมิติมากเท่ากับการพิมพ์ด้วยสีดำ 4 เม็ดครับ การสังเกตบนหน้าจอคอมพิวเตอร์อาจจะมองได้ไม่ชัดมากนัก แต่ถ้าพิมพ์ลงบนกระดาษแล้วจะเห็นความต่างพอสมควรครับ

ถ้าอย่างนั้นเราจะพิมพ์ดำเดี่ยวในกรณีไหนบ้าง

พิมพ์ตัวหนังสือด้วยดำ 4 เม็ด มีโอกาสที่ตัวหนังสือจะเบลอ หรือเกิดการเหลื่อมกัน

พิมพ์ตัวหนังสือด้วยดำ 4 เม็ด มีโอกาสที่ตัวหนังสือจะเบลอ หรือเกิดการเหลื่อมกัน

แต่สำหรับงานพิมพ์ที่ประกอบไปด้วยตัวหนังสือแบบตัวอ่านเยอะ ๆ นั้น หลายครั้งทางโรงพิมพ์พบว่าลูกค้าหลายคนยังทำงานมาไม่ถูกต้องนะครับ เนื่องจากการออกแบบหน้างานที่ประกอบไปด้วยตัวหนังสือตัวเล็ก ๆ เยอะ ๆ นั้น เราไม่ควรใช้สีดำ 4 เม็ดให้กับตัวอักษรเหล่านั้นครับ เพราะยิ่งตัวอักษรเล็กเท่าไหร่ โอกาสที่จะพิมพ์แล้วเหลื่อมกันยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเป็นข้อความในส่วนของรูปภาพ / infographic / หัวข้อ / หัวเรื่อง ตัวหนังสือมีความหนา ใหญ่ / หัวบทความที่มีปริมาณไม่มาก เน้นไปที่ความเด่นเพื่อดึงดูดสายตา ก็อาจจะใช้สีดำแบบ 4 เม็ดได้ แต่หากเป็นตัวหนังสือที่ต้องอ่านนาน ๆ เช่น ตัวหนังสือในบทความ / เนื้อเรื่อง เราควรจะทำเป็นดำเดี่ยวมากกว่าครับ

พิมพ์ตัวหนังสือด้วยดำเดี่ยวจะได้ตัวหนังสือที่คมชัด อ่านง่าย ไม่เบลอ

พิมพ์ตัวหนังสือด้วยดำเดี่ยวจะได้ตัวหนังสือที่คมชัด อ่านง่าย ไม่เบลอ

ส่วนผสมของดำ 4 เม็ดควรเป็นเท่าไหร่

เนื่องจากไม่มีสูตรตายตัวที่แน่นอนว่า CMYK ควรจะเป็นเท่าไหร่ แต่มีหลักให้ยึดง่าย ๆ ประมาณนี้ครับ

1. ส่วนผสม CMYK รวมกันไม่เกิน 300 ครับ ถ้าเกิน 300 หน่วย จะพิมพ์งานลำบากมาก เนื่องจากปริมาณหมึกพิมพ์ที่กดทับลงบนกระดาษมีเยอะเกินไป กระดาษอาจจะขาดระหว่างพิมพ์ได้
2. สีดำควรเกิน 80 ขึ้นไป น้อยกว่านี้อาจจะโดนสีอื่นกลบไป
3. สูตรที่นิยมใช้กันคือ C50 M50 Y50 K100

ยกตัวอย่างเช่น

  • C50 M50 Y50 K100 : 50 + 50 + 50 + 100 = 250 แบบนี้พิมพ์ได้โอเค เป็นดำสนิท Rich Black
  • C96 M70 Y46 K86 : 96 + 70 + 46 + 86 = 298 แบบนี้พิมพ์ได้ เป็นดำสนิท Rich Black
  • C70 M35 Y40 K100 : 70 + 35 + 40 + 100 = 245 แบบนี้พิมพ์ได้โอเค เป็นดำอมฟ้า Cool Black
  • C35 M60 Y60 K100 : 35 + 60 + 60 + 100 = 255 แบบนี้พิมพ์ได้โอเค เป็นดำอมส้ม Warm Black
  • C100 M100 Y100 K100 : 100 + 100 + 100 + 100 = 400 แบบนี้พิมพ์ไม่ได้ เป็นดำไกด์ (Registration Black) ใช้สำหรับช่างพิมพ์เท่านั้น ไม่ใช้ในการออกแบบทั่วไป
สีดำเดี่ยวใน Swatch Palette ใน InDesign

สีดำเดี่ยวใน Swatch Palette ใน InDesign

สำหรับการออกแบบงานพิมพ์ด้วยโปรแกรมต่าง ๆ ลูกค้าทุกท่านต้องตรวจเช็คงานให้ดีก่อนนะครับว่ากำลังใช้สีดำที่เหมาะสมกับประเภทของงานอยู่หรือไม่ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วการมาแก้สีตัวอักษรแต่ละตัวนั้น เป็นงานที่เสียเวลาอยู่มากทีเดียวครับ และเพื่อเป็นการป้องกันปัญหา ในเบื้องต้นทางโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. จะช่วยตรวจงานให้ และจะแจ้งลูกค้าทุกท่านก่อนจะเริ่มพิมพ์อยู่แล้วครับ

สรุปข้อดี – เสียของดำ 4 เม็ด

++ สามารถพิมพ์ให้สีออกมาดำสนิทได้จริง ๆ
++ เหมาะสำหรับงานที่เป็นภาพ / Text โปรยหัวใหญ่ ๆ / ภาพ Background ที่ต้องการความดำสนิท
++ ภาพขาวดำที่พิมพ์ด้วยดำ 4 เม็ดจะดูมีมิติมากกว่าดำเดี่ยว
— ถ้าใช้กับตัวหนังสือ มีโอกาสที่จะพิมพ์ออกมาแล้วตัวหนังสือเบลอ
— หากเลือกส่วนผสมสีไม่ดี อาจจะอมสีอื่นบ้างเช่น ดำอมแดง ดำอมฟ้า
— การออกแบบด้วยดำ 4 เม็ด ต้องมีความรู้เรื่อง Overprint อยู่บ้างพอสมควร
— หากใช้ส่วนผสมสีเยอะเกิน 300 หน่วย จะพิมพ์งานได้ลำบาก

สรุปข้อดี – เสียของดำเดี่ยว

++ ไม่มีปัญหาเรื่องสีเหลื่อม
++ เหมาะกับการใช้งานกับตัวหนังสือ / ตัวอ่าน
— ไม่ได้ถึงกับดำสนิทมาก ถ้าพิมพ์กับกระดาษบางประเภทจะดูคล้ายเทาเข้ม
— ภาพที่พิมพ์ด้วยดำเดี่ยวจะมีมิติไม่เท่าดำ 4 เม็ด

การพิมพ์ตัวหนังสือสำหรับอ่าน ควรใช้สีดำเดี่ยว K100 ในการพิมพ์

การพิมพ์ตัวหนังสือสำหรับอ่าน ควรใช้สีดำเดี่ยว K100 ในการพิมพ์

PostEndIcon