10 สาเหตุ ทำไมสีที่พิมพ์ไม่ตรงกับสีในไฟล์ ไม่เหมือนกับงานที่ออกแบบไว้ในคอมพิวเตอร์

หลายครั้งเราจะพบว่า งานที่พิมพ์เสร็จออกมาแล้ว มีสีที่ไม่ตรงกับในไฟล์ที่ทำเอาไว้ หรือที่ออกแบบไว้ในคอมพิวเตอร์นะครับ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้สีเพี้ยน สีไม่ตรงนี้มีได้หลายสาเหตุด้วยกัน ตั้งแต่ปัจจัยในด้านโรงพิมพ์เอง เช่นเครื่องพิมพ์ คุณภาพช่างพิมพ์ ไปจนถึงปัจจัยจากทางลูกค้าเอง ซึ่งวันนี้ทางโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. จะมาไขข้อสงสัยว่า ถ้านับเฉพาะในมุมมองของลูกค้า ลูกค้าสามารถที่จะทำอะไรได้บ้างเพื่อควบคุมสีออกมาให้ตรงใจที่สุด และลดปัญหาความเพี้ยนสีให้ได้มากที่สุดจากการเตรียมไฟล์สำหรับพิมพ์

1. ระบบสี RGB vs CMYK

ปัญหาคลาสสิคที่สุดที่โรงพิมพ์ทุกโรงเคยเจอก็คือ ปัญหาลูกค้าทำงานมาในระบบสี RGB แทนที่จะเป็น CMYK ซึ่งถ้าจะให้อธิบายเรื่องนี้แบบสั้น ๆ ก็คือ ระบบสีทั้งสองระบบนี้ ไม่เหมือนกัน และไม่มีวันทดแทนกันได้นะครับ ไม่มีทางที่สี RGB จะปรับให้เหมือน CMYK ได้ อาจจะทำให้ดูใกล้เคียงกันได้ในบางสี แต่ในบางสีจะแตกต่างกันคนละเรื่อง บางครั้งทางโรงพิมพ์แจ้งเตือนลูกค้ากลับไปว่าสีที่ทำมา ทำมาในระบบ RGB ต้องมีการแก้ไข ลูกค้าบางท่านที่ไม่เข้าใจจะบอกให้ทางโรงพิมพ์แก้ให้เป็น CMYK แต่ขอให้สีเหมือนเดิมที่ทำมาแบบ RGB ซึ่งทางโรงพิมพ์ทำให้ไม่ได้ เป็นเพราะอะไร มาดูกันในรายละเอียดครับ

RGB vs CMYK Additive vs Subtractive Color

ระบบสี RGB

จอ LCD/LED มอนิเตอร์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เกิดจากหลอดสีขนาดเล็กจำนวนมากเรียงต่อ ๆ กัน 1 หลอดก็จะแทนจุดภาพหรือ Pixel 1 จุด หลอดนี้จะใช้แสงทั้งหมด 3 สี R (Red) + G (Green) + B (Blue) แต่ละสีสามารถเปล่งความสว่างออกมาในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน ได้ตั้งแต่ 0-255 ระดับ ผสมออกมาเป็นสีบนหน้าจอได้ราว ๆ 256 x 256 x 256 = 16,777,216 สี หรือที่เค้านิยมเรียกว่า 16 ล้านสีนั่นเองครับ ซึ่งสี RGB นี้มีคุณสมบัติเป็น Additive Color หมายความว่า สีเกิดจากการเปล่งแสงสว่าง ยิ่งเอาแม่สีมาผสมกัน จะได้สีใหม่ที่มีความสว่างมากขึ้น หากเอาทั้ง 3 สี มาผสมกันในอัตราส่วนที่เท่ากัน เช่น 100:100:100 ก็จะได้การไล่เฉดสีเทา แต่ถ้าผสมในระดับสูงสุดที่ 255 ทุกสี (255:255:255) ก็จะได้สีที่สว่างที่สุดคือสีขาวนั่นเอง โดยระดับ 0-255 นี้เป็นแค่ระดับในการระบุค่าเท่านั้น ยังไม่นับรวมถึงการปรับความสว่างหน้าจอ LCD/LED ว่ามีความสว่างมากน้อยเพียงใด เพราะความสว่างหน้าจอก็มีผลกับสีที่เราเห็นเหมือนกันครับ

หน้าจอ LCD เทียบกับภาพขยายงาน

ระบบสี CMYK

เกิดจากการผสม Pigment จำนวน 4 สี CMYK ลงในหมึกพิมพ์ เมื่อเราเอาหมึกมาพิมพ์ลงบนกระดาษ สีที่เราเห็นจะเกิดจากแสงสีขาวส่องไปตกกระทบเนื้อหมึก หมึกจะมีการดูดแสงบางสีไว้ (Subtractive) แล้วสะท้อนแสงที่เหลือกลับออกมา ฉะนั้น หมึกสีฟ้าที่เห็นก็คือการที่หมึก Cyan ดูดแสงทุกสีเก็บไว้ในเนื้อหมึก ยกเว้นแสงสีฟ้า ทำให้แสงที่สะท้อนออกมาเหลือแค่สีฟ้าซึ่งเป็นสีที่เรามองเห็นนั่นเอง เนื้อหมึกแต่ละสีจะมีการดูดแสงสว่างเอาไว้แตกต่างกัน เมื่อเอาแม่สีมาผสมกัน จะได้สีใหม่ที่มีความสว่างน้อยลง ซึ่งหากเอาทั้ง 3 สี (CMY) มาผสมกันในระดับสูงสุด ก็จะได้สีที่สว่างน้อยที่สุดคือสีดำ (หรือเกือบดำ) นั่นเอง และด้วยเหตุนี้ ทำให้เราไม่สามารถเร่งสีงานพิมพ์ให้สว่างขึ้นมาได้ที่หน้าแท่นพิมพ์  ยิ่งต้องการให้มีสีเข้ม  อัดสีหนักมากขึ้นเท่าไหร่ ภาพที่ได้จะค่อย ๆ มืดลงเรื่อย ๆ เท่านั้นครับ

ควรจะเพิ่มความสว่างของภาพเผื่อมาไว้เล็กน้อยซัก 10% เพราะที่หน้าแท่นพิมพ์ ช่างพิมพ์ทำให้ภาพมืดลงได้ แต่ไม่สามารถทำให้ภาพสว่างขึ้นได้

จะเห็นว่า สีทั้ง 2 ระบบ ตัวแสงจะมีวิธีการสร้างสีที่แตกต่างกัน นั่นคือสาเหตุว่าทำไมสีบางสีที่มีความสว่างมาก ๆ สดใสมาก ๆ ในโหมด RGB ถึงไม่สามารถพิมพ์ได้ในระบบ CMYK และการเพิ่มความเข้มในระบบ CMYK มีแต่จะทำให้ภาพมืดลงเรื่อย ๆ เท่านั้น ดังนั้นเวลาทำไฟล์งานส่งโรงพิมพ์ ลูกค้าควรระลึกไว้เสมอว่า ภาพที่สว่างเกินไปในระบบ CMYK จะพิมพ์ได้ง่ายกว่าภาพที่มืดเกินไปเสมอ  ควรจะเพิ่มความสว่างของภาพเผื่อมาไว้เล็กน้อยซัก 10% ช่างพิมพ์ทำให้ภาพมืดขึ้นได้ แต่ไม่สามารถทำให้ภาพสว่างขึ้นได้ครับ

ภาพจาก Scanner หรือ กล้องดิจิตอล

ปัญหาอีกอย่างที่ลูกค้าเข้าใจผิดบ่อยมากก็คือ การนำภาพจากเครื่องสแกนเนอร์เข้ามาใช้งาน ภาพที่สแกนมักจะเป็นงานอะไรซักอย่างที่เคยพิมพ์ออกมาแล้ว ไม่ว่าจะด้วยระบบออฟเซ็ต ระบบอิงค์เจ็ท หรือรูปถ่าย ตัวสแกนเนอร์จะแปลงภาพที่เห็นเหล่านี้ไปเป็นข้อมูลดิจิตอลเก็บอยู่ในระบบสี RGB โดยอัตโนมัติ รวมถึงภาพถ่ายที่เรานำมาจากกล้องดิจิตอลและมือถือด้วยครับ ก่อนจะนำมาใช้งาน ต้องแปลงภาพเหล่านี้ให้อยู่ในระบบสี CMYK ก่อนทุกครั้ง และควรจะเป็นการแปลงจากฝั่งลูกค้าเองด้วย เพราะลูกค้าจะได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสีระหว่างการแปลง และตัดสินใจได้ทันทีว่าควรจะต้องแก้ไขภาพอย่างไรให้ตรงใจที่สุดครับ ที่จริงทางโรงพิมพ์จะแปลงให้ก็ได้ แต่ลูกค้าจะไม่รู้เลยว่าสีที่เปลี่ยนไปนั้น เป็นสีที่ถูกใจแล้วหรือยัง ดังนั้นควรจะแปลงเองดีที่สุดครับ

2. การออกปรู๊ฟดิจิตอล

ระบบการพิมพ์ออฟเซ็ตในสมัยก่อน ช่างพิมพ์จะพิมพ์งานโดยเทียบกับปรู๊ฟ เพื่อควบคุมสีของงานให้ถูกต้องและตรงกับที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งการออกปรู๊ฟในสมัยก่อนนั้นจะออกเป็นปรู๊ฟจริง ๆ จากแม่พิมพ์จริง ๆ เรียกว่าปรู๊ฟเพลท นั่นแปลว่า แค่ลูกค้าจะดูสีเพื่อตรวจความถูกต้อง ก็ต้องทำแม่พิมพ์ออกมาก่อนแล้ว 1 ชุด และทำการปรู๊ฟเพลทจากแม่พิมพ์ชุดนั้น ถ้าลูกค้าดูสีแล้วไม่พอใจ ต้องการปรับแก้สี หรือตรวจสอบเจอข้อผิดพลาดของงาน เช่น ตัวหนังสือสะกดผิด รูปผิด ต้องการแก้งาน แม่พิมพ์ชุดนั้นก็จะเสียไปทันที ทำให้ต้องทำแม่พิมพ์ใหม่อีก 1 ชุดพร้อมกับปรู๊ฟสีอีก 1 ครั้ง ซึ่งทั้งหมดนี่มีค่าใช้จ่ายมหาศาล ยิ่งถ้าทำเพลทให้หนังสือทั้งเล่มที่มีหลายหน้าเพียงเพื่อต้องการดูปรู๊ฟสี เป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยเหตุผลทางด้านค่าใช้จ่าย ความสะดวกในการแก้ไขงาน และเทคโนโลยีที่ดีขึ้นในปัจจุบัน โรงพิมพ์แทบจะทุกโรงจึงออกปรู๊ฟในระบบดิจิตอลแทน ซึ่งเป็นการออกปรู๊ฟก่อนที่จะทำแม่พิมพ์จริง ๆ การทำแบบนี้มีค่าใช้จ่ายก็จริง แต่ก็ถูกกว่าการออกปรู๊ฟเพลทอยู่อย่างเทียบกันไม่ได้ การออกปรู๊ฟดิจิตอลจะออกโดยเครื่องพิมพ์ในระบบ Inkjet คุณภาพสูง ระบบหมึกพิมพ์ 6-10 สี เพื่อจำลองความเป็นไปได้ของสีให้ได้ใกล้เคียงกับการพิมพ์ปกติให้ได้มากที่สุด พิมพ์ลงบนกระดาษโฟโต้อิงค์เจ็ทคุณภาพสูง บางที่จะเรียกว่ากระดาษโกดัก ตัวเครื่องพิมพ์จะมีการ Calibrate สีตลอดเวลาเพื่อให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด แต่ถึงอย่างไรก็ยังเป็นระบบการพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์ Inkjet ความเที่ยงตรงของสีเมื่อเทียบกับระบบพิมพ์แบบออฟเซ็ตอยู่ราว ๆ 90-95% ขึ้นอยู่กับสี บางสีจะมีความเที่ยงตรงมาก 99% ในขณะที่บางสีจะมีความเพี้ยนอยู่เยอะ ปรับความเหมือนอย่างไรก็ทำได้แค่ 90% เท่านั้น

กระดาษโฟโต้อิงค์เจ็ทคุณภาพสูง ที่ใช้ในการออกดิจิตอลปรู๊ฟ จะให้สีสันสดสว่าง เพราะมีความสะท้อนแสงสูง

กระดาษที่ใช้ในการออกปรู๊ฟดิจิตอล จะมีอยู่ 2 เนื้อ แยกตามกระดาษที่ลูกค้าใช้พิมพ์งานจริง ๆ นั่นก็คือ

1. กระดาษโฟโต้อิงค์เจ็ท คุณภาพสูง ซึ่งเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติคล้าย ๆ กับรูปถ่ายที่เราไปล้างอัดตามร้านถ่ายรูป ผิวหน้าจะเคลือบด้วยน้ำยา ผิวเรียบ มันวาว สะท้อนแสงได้ดีมาก ทำให้หมึกไม่ซึมลงไปในเนื้อกระดาษ แต่จะลอยอยู่บนผิวหน้าเมื่อแห้งแล้ว ทำให้ภาพดูมีมิติและความสว่างสดใสของสีมากกว่าปกติ ภาพจะสว่างสดใสมากกว่าการพิมพ์ลงบนกระดาษอาร์ตมัน แต่กระดาษอาร์ตมันจะให้ความคมชัดของภาพมากกว่าปรู๊ฟดิจิตอลที่พิมพ์บนกระดาษโฟโต้อิงค์เจ็ท

2. กระดาษปอนด์อิงค์เจ็ท คุณภาพสูง เป็นกระดาษปอนด์เนื้อดีกว่าปกติทั่วไปเล็กน้อย คุณสมบัติคล้ายกระดาษปอนด์ใช้ในงานพิมพ์ ผิวหน้าด้าน สาก ไม่มีการเคลือบ ไม่มีการขัดมัน ทำให้สะท้อนแสงได้น้อย ทำให้ภาพไม่สว่างสดใสเหมือนกระดาษโฟโต้อิงค์เจ็ท หรือกระดาษอาร์ตมัน เนื้อมีความเป็นรูพรุนสูง ทำให้ดูดซับหมึกเข้าไปในกระดาษได้ดี และเพราะดูดซับดีทำให้ภาพจะมีความคมชัดน้อยกว่ากระดาษที่ดูดซับหมึกได้ไม่ดี

ถึงแม้ว่าการออกปรู๊ฟในระบบดิจิตอลจะมีความคลาดเคลื่อนของสีอยู่บ้าง แต่โดยรวม ๆ แล้วถือว่าใช้งานได้ดีพอสมควร ในขณะที่เทียบกับการออกปรู๊ฟเพลทแล้ว สามารถประหยัดเงินไปได้อย่างมหาศาล ทำให้ปัจจุบันแทบไม่มีโรงพิมพ์ใดออกปรู๊ฟด้วยการปรู๊ฟเพลทอีกต่อไปแล้ว มีแต่ความพยายามที่จะ Calibrate ปรู๊ฟดิจิตอลให้เที่ยงตรงแม่นยำขึ้นเรื่อย ๆ มากกว่าครับ

บ่อยครั้งที่ลูกค้าขอดูปรู๊ฟแล้วจะมีการแก้ไขงาน ถ้าทำปรู๊ฟเพลท เท่ากับว่าเพลทชุดนั้นใช้งานไม่ได้อีกแล้ว ต้องค่าใช้จ่ายจำนวนมากไปฟรีๆ

สรุปแล้วทางโรงพิมพ์มีข้อแนะนำง่าย ๆ สำหรับการเทียบสีกับปรู๊ฟดิจิตอลดังนี้ครับ

  • สีที่ใช้ออกปรู๊ฟเป็นหมึกระบบ Inkjet คนละแบบกับ CMYK
  • กระดาษที่ใช้ปรู๊ฟ ก็มีความแตกต่างกับกระดาษที่ใช้พิมพ์
  • เทียบเคียงสีได้แค่ประมาณ 90-95% เท่านั้น บางสีจะใกล้เคียงมาก บางสีจะเพี้ยนเยอะหน่อย
  • เป็นวิธีที่โรงพิมพ์ส่วนใหญ่ใช้กันในทางปฏิบัติ ด้วยเหตุผลทางด้านค่าใช้จ่าย
  • สามารถทำปรู๊ฟเพลทได้ แต่แนะนำให้ทำมาเฉพาะจุดที่ซีเรียสมากจริง ๆ แค่ 1 ชุดเพื่อเทสสีโดยเฉพาะ (แน่นอนว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น)
  • วิธีแก้อีกวิธีคือ ทางโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. มีชุดไกด์สีมาตรฐานแพนโทน PANTONE นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ลูกค้ามาตรวจสีที่เห็นในหน้าจอคอมพิวเตอร์ กับสีที่จะไปปรากฎอยู่บนกระดาษได้ที่โรงพิมพ์

ลูกค้าที่มีความกังวลเรื่องสีมาก ควรจะต้องเริ่มต้นจากไฟล์งานที่ออกแบบมา เลือกใช้ Profile สีให้ถูกต้อง ปรึกษาและเทียบสีกับโรงพิมพ์อยู่ตลอดเวลา เพราะแม้แต่ตัว Pantone เอง ยังระบุไว้ในไกด์สีของตัว Pantone ว่า สีที่ออกแบบในหน้าจอคอมพิวเตอร์ กับสีที่ออกมาทางระบบพิมพ์ Inkjet และระบบพิมพ์ออฟเซ็ตนั้น มีความแตกต่างกัน ไม่สามารถกำหนดให้ตรงกันในทุกช่วงสีได้ ลูกค้าที่ต้องการกำหนดสีให้มีความแม่นยำมาก ๆ ควรจะแจ้งทางโรงพิมพ์ก่อนว่าต้องการเน้นตรงจุดไหน ทางโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. มีไกด์สีแพนโทนมาตรฐานสามารถเช็คสีได้ว่า สีที่เห็นบนจอคอมพิวเตอร์กับสีที่พิมพ์ออกมาจริง มีความแตกต่างกันอย่างไร สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับทางโรงพิมพ์ได้ครับ

3. ชนิดของกระดาษที่พิมพ์

กระดาษที่ใช้พิมพ์งานมีผลต่อเรื่องของสีอย่างมาก ถ้าใครที่เคยมาที่โรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. และได้เห็นตัวอย่างเทียบกันจะเห็นได้ชัดว่า งานพิมพ์เดียวกัน พิมพ์พร้อมกันด้วยหมึกชุดเดียวกัน แม่พิมพ์เดียวกัน ต่างกันแค่กระดาษที่ใส่เข้าไป ให้ผลที่แตกต่างกันมากแค่ไหน เพราะด้วยคุณสมบัติของกระดาษแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน เลยทำให้สีที่เห็นหลังพิมพ์ออกมาไม่เหมือนกัน ผมจะยกตัวอย่างกระดาษที่นิยมใช้กันหลัก ๆ 3 ตัวนะครับ

กระดาษอาร์ตมัน

กระดาษอาร์ตมันมีการขัดเคลือบผิวหน้ามาพร้อมใส่ส่วนผสมบางอย่างเข้าไป ทำให้ผิวหน้ากระดาษมีความเรียบเนียน เงาวาว สะท้อนแสงได้ดี พอมีการขัด เนื้อกระดาษจะอัดแน่น ดูดซึมหมึกได้ไม่มาก เนื้อหมึกจะลอยอยู่บนผิวกระดาษ ทำให้งานพิมพ์ดูมีมิติ ภาพคมชัด กระดาษอาร์ตมัน (หรือกระดาษชนิดไหนก็ตามที่มีการขัดเคลือบผิวมาในลักษณะเดียวกันกับอาร์ตมัน) จะสามารถควบคุมสีได้ดีที่สุด มีความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด สีดูมีความสดใส ภาพสว่าง แต่บางคนอาจจะไม่ชอบ เพราะลักษณะของอาร์ตมันจะดูเงาวาวมาก เหมาะกับงานที่เน้นภาพสวยคมชัด สีสันสดใส ไม่เหมาะกับงานที่ต้องใช้เวลาอ่านนาน ๆ สายตาจะเมื่อยล้าได้ง่ายกว่าปกติ

เปรียบเทียบงานพิมพ์ ระหว่างกระดาษอาร์ตมัน กับกระดาษปอนด์

กระดาษปอนด์ / กระดาษถนอมสายตา

จริง ๆ แล้วกระดาษถนอมสายตา ก็คือกระดาษปอนด์ที่นำมาย้อมสีเหลืองอ่อนเพิ่มเข้าไปนี่แหล่ะครับ คุณสมบัติในทางกายภาพแล้วเหมือนกับกระดาษปอนด์ทั้งหมด กระดาษปอนด์เป็นกระดาษที่ทำมาจากเยื่อกระดาษ ไม่ผ่านการขัดผิว เนื้อกระดาษจะฟูมีความหนากว่ากระดาษอาร์ตมันที่แกรมเท่ากัน ใส่สารปรับสภาพกระดาษน้อย อย่างมากก็ใส่สารฟอกขาวเพื่อให้กระดาษขาว แต่ผิวกระดาษยังมีความเป็นเยื่อไม้อยู่ ทำให้มีผิวสากด้าน ขรุขระ ไม่สะท้อนแสง ดูดซึมหมึกได้ดีมาก เมื่อหมึกถูกพิมพ์ลงบนผิวกระดาษแล้ว มีการกระจายตัวแทรกซึมเข้าไปอมในเนื้อกระดาษด้วย ให้นึกถึงทิชชู่ที่ชุบน้ำประมาณนั้นครับ เมื่อดูดซึมหมึกเอาไว้มาก บวกกับการที่กระดาษไม่สะท้อนแสง ทำให้ภาพที่พิมพ์ออกมาได้จะค่อนข้างมืดกว่าปกติเล็กน้อย ไม่ค่อยมีมีติมากเท่าอาร์ตมัน เหมาะกับงานที่ต้องการเขียนด้วยปากกาได้ หรืองานที่ต้องการความดิบ ความธรรมชาติ ดูไม่ปรุงแต่ง งานที่ต้องการความเป็น Eco-Friendly เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เปรียบเทียบงานพิมพ์ ระหว่างกระดาษถนอมสายตา GreenRead กับกระดาษปอนด์

กระดาษถนอมสายตาก็ยิ่งไปกันใหญ่ ด้วยคุณสมบัติที่เหมือนกระดาษปอนด์ ดังนั้นการซับหมึกและการสะท้อนแสงก็จะเหมือนกัน แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามาคือสีจะติดเหลืองจากเนื้อกระดาษออกมาด้วย ถ้าถามว่ามีงานพิมพ์ 4 สีที่พิมพ์กับกระดาษถนอมสายตาเยอะมั้ย ก็ต้องตอบว่าเยอะครับ สามารถใช้พิมพ์งาน 4 สีได้ตามปกติ ไม่ได้มีปัญหาอะไรครับ เพียงแต่ลูกค้าจะต้องเข้าใจด้วยว่า สีที่ออกมามันจะติดเหลือง และมีหลายสีที่เพี้ยนไปมากกว่าปกติเมื่อพิมพ์บนกระดาษถนอมสายตาครับ  จากภาพตัวอย่าง  โปรดสังเกตบริเวณขอบรูปที่เป็นพื้นที่สีเขียว  จะเห็นได้ชัดเจนที่สุดครับ

เปรียบเทียบงานพิมพ์ ระหว่างกระดาษอาร์ตด้าน กับกระดาษปอนด์

กระดาษอาร์ตด้าน

กระดาษอาร์ตด้าน เหมือนเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างอาร์ตมันและกระดาษปอนด์ เพราะรับเอาคุณสมบัติทั้งสองด้านเข้ามารวม ๆ กัน กระดาษอาร์ตด้านจะมีการขัดเคลือบผิวหน้ามาพร้อมใส่ส่วนผสมบางอย่างเข้าไปเหมือนกระดาษอาร์ตมัน แต่ระดับของการขัดน้อยกว่ามาก ทำให้ผิวหน้าไม่ได้เรียบเนียนเท่ากับอาร์ตมัน ถ้าซูมเข้าไปดูผิวหน้าจะพบความขรุขระอยู่บ้าง แต่ก็ยังเรียบเนียนกว่ากระดาษปอนด์ ทำให้คุณสมบัติทุกอย่างอยู่ตรงกลาง สะท้อนแสงปานกลาง ดูดซึมหมึกปานกลาง ภาพจะมีมิติกว่ากระดาษปอนด์ แต่ก็น้อยกว่าอาร์ตมันครับ งานพิมพ์จะมืดกว่ากระดาษอาร์ตมัน แต่ก็สว่างกว่ากระดาษปอนด์

จากในรูปภาพเปรียบเทียบระหว่างกระดาษอาร์ตด้านและกระดาษปอนด์ แม้ว่าความแตกต่างจะลดลงเล็กน้อยเพราะเป็นการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลอีกที แต่ก็จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องของมิติของภาพ กระดาษอาร์ตจะดูมีมิติกว่า  กระดาษปอนด์ภาพจะดูแบนกว่า  ความเข้ม ความสว่าง ความคมชัดของภาพ แตกต่างกันอย่างสังเกตุได้  สีบางสีพิมพ์แล้วดูค่อนข้างจะเหมือนกันมาก ในขณะที่บางสีก็ดูแตกต่างกันมากเช่นกัน เช่นสีม่วงบริเวณเส้นผมเป็นต้น

ตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติกระดาษชนิดต่าง ๆ ที่มีผลต่อสีที่พิมพ์

การออกแบบไฟล์งานจะต้องคำนึงถึงกระดาษที่จะใช้พิมพ์ด้วย นอกจากจะเลือกชนิดของกระดาษให้เหมาะกับคาแรคเตอร์ของงานแล้ว ควรจะคำนึงถึงการดูดซับหมึกและการสะท้อนแสงไว้ด้วย เพราะมีผลอย่างมากกับสีที่จะพิมพ์ หรือถ้าหากเราออกแบบไฟล์งานไว้แล้วกับกระดาษชนิดหนึ่ง แล้วเกิดมีการเปลี่ยนกระดาษที่จะพิมพ์กระทันหัน ควรพึงระลึกไว้เสมอว่า สีที่ได้จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ตั้งใจไว้ด้วยครับ

4. ยี่ห้อของกระดาษที่พิมพ์

ยี่ห้อของกระดาษที่พิมพ์ก็มีผลกับสีของงานด้วยเช่นกันนะครับ เพราะว่าตัวยี่ห้อจะกำหนดสีพื้นฐานของกระดาษมาเลยว่ากระดาษชนิดนั้นมีสีขาวอมสีอะไร ซึ่งก็จะมีด้วยกัน 2 เฉดสี กระดาษบางยี่ห้อจะเป็นขาวอมฟ้า บางยี่ห้อจะเป็นขาวอมเหลือง ขึ้นอยู่กับแหล่งผลิต ประเทศที่ผลิต ล๊อตที่ผลิต ฯลฯ รวมถึงความนิยมพื้นฐานของประเทศต้นทางของยี่ห้อนั้น ๆ ด้วย สีของกระดาษก็เปรียบเทียบได้กับอุณหภูมิของภาพถ่ายที่เวลาเราถ่ายภาพนั่นแหล่ะครับ ถ้าเลือกกระดาษเป็นขาวอมฟ้า ก็จะได้อารมณ์ภาพถ่ายที่ติดอุณหภูมิสีประมาณ 6000K ถ้าเลือกกระดาษเป็นขาวอมเหลือง ก็จะเปรียบเหมือนถ่ายที่ติดอุณหภูมิสีประมาณ 5000K

ถ้าลูกค้ามีความต้องการชัดเจนว่า ไม่อยากให้กระดาษมีสีเอียงไปทางเฉดไหน สามารถแจ้งกับทางโรงพิมพ์ได้ก่อนล่วงหน้า แต่หากไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าต้องการหลีกเลี่ยงเฉดไหน ทางโรงพิมพ์จะเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะของงานนั้น ๆ ให้เองครับ

5. การเคลือบงาน

การเคลือบงานเป็นสิ่งปกติที่นิยมทำกันทั่วไปอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเคลือบด้วยน้ำยาวานิช วอเตอร์เบส หรือน้ำยายูวี หรือการเคลือบด้วยฟิล์ม PVC OPP การเคลือบทุกชนิดมีผลกับสี และความสว่างของภาพอยู่บ้างเล็กน้อย การเคลือบแบบน้ำยา (วานิช วอเตอร์เบส ยูวี) จะทำให้สีเหลืองเด่นขึ้นเล็กน้อย แต่ภาพโดยรวมจะสีสันสดใสขึ้น ดูสว่างขึ้นนิดหน่อย แต่การเคลือบด้วยฟิล์ม ไม่ว่าจะเป็น PVC หรือ OPP จะทำให้ภาพมืดลงเล็กน้อย สีเข้มขึ้นนิดหน่อย อันเนื่องมาจากตัวฟิล์มเองมีความหนาในตัวเอง  ความหนาของฟิล์มจะดูดซับแสงไปบางส่วน ถ้าเป็นการเคลือบ PVC เงาก็จะน้อยหน่อย แต่ถ้าเป็นการเคลือบ PVC ด้าน ก็จะมืดลงกว่า PVC เงา แต่จะได้ความเรียบเนียนของสีมาแทน

6. งานบางอย่างที่ลูกค้าเห็น ไม่ใช่งาน 4 สี

หลายครั้งทางโรงพิมพ์ได้รับตัวอย่างจากลูกค้ามา ว่าต้องการสีประมาณนี้ บางทีงานบางประเภทที่ลูกค้าเห็นนั้นมีการพิมพ์มากกว่า 4 สี CMYK นะครับ เพียงแต่เราไม่รู้เพราะดูไม่ออก ซึ่งถ้าคนทั่วไปที่ไม่ได้ทำงานในสายอุตสาหกรรมการพิมพ์ บางครั้งจะดูไม่ออกว่างานที่เห็นอยู่ตรงหน้านั้น เป็นงานกี่สีกันแน่ แม้แต่ทางโรงพิมพ์ที่มีประสบการณ์เองก็ตาม หากไม่ได้เครื่องมือช่วยในการดูงาน หลาย ๆ งานก็ยากที่จะฟันธงลงไปว่ามีกี่สีเหมือนกันครับ

จุดสังเกตก็คือ ในบางจุดที่มีสีสันสดในกว่าปกติ หรือมีสีที่เข้มจัดจ้านโดดเกินพื้นที่อื่น ๆ ในงาน หรือมีบางจุดบางตำแหน่งที่สีมีความเงาวาวเหมือน Metallic อาจจะใช้เป็นสีเงิน หรือสีทองในการพิมพ์  มีบางตำแหน่งของงานที่มีความสะท้อนแสงออกมา เหล่านี้ให้สงสัยไว้ก่อนว่า เป็นการพิมพ์งาน 5 สีขึ้นไป โดยจะเป็นการพิมพ์ 4 สี CMYK + สีพิเศษอีกสีหนึ่ง เช่นเราต้องการให้มีความแดงสดใสในภาพการ์ตูนบางจุด ก็ทำสีนีออนสะท้อนแสงสีชมพูอมแดง Pantone Red 032C เข้ามาผสมกับงาน 4 สีที่มีอยู่เดิม ก็ทำให้งานสุดท้ายที่ได้ออกมา มีความแดงสดใส สว่างกว่าปกติ ซึ่งไม่สามารถทำได้ด้วยการพิมพ์เพียง 4 สี CMYK ทั่วไปครับ

ดังนั้น ถ้าลูกค้าพิมพ์งาน 4 สี ธรรมดา แล้วเอาตัวอย่างสีแบบงานพิมพ์ 5 สีมาให้ดู แบบนี้ทำยังไงสีก็ไม่มีทางเหมือนกันครับ

7. มีการใช้สีแพนโทน (PANTONE) ในงานพิมพ์

ลูกค้าบางท่านมีการระบุใช้สีแพนโทน (PANTONE) มาในงานพิมพ์ด้วย ซึ่งทางโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. อธิบายรายละเอียดแบบเจาะลึกเกี่ยวกับ PANTONE ไว้แล้ว แต่อธิบายสั้น ๆ ได้ว่า ระบบสีแพนโทนเป็นระบบสีอีกระบบที่ไม่ใช่และไม่เหมือนระบบสี CMYK นำมาใช้ทดแทนกันไม่ได้ เพราะระบบสีแพนโทนมีแม่สีที่ใช้จริง ๆ ถึง 18 สีด้วยกัน ลำพังเพียงแค่ 4 สี CMYK ไม่มีทางที่จะพิมพ์แล้วให้สีตรงกับ PANTONE ได้อย่างแน่นอน ยกเว้นเสียแต่ว่าจะพิมพ์งานด้วยระบบแพนโทนไปเลย ซึ่งค่าใช้จ่ายจะสูงมาก

ทางโรงพิมพ์ส่วนใหญ่จะให้วิธีผสมด้วยแม่สีที่น้อยลง หรือเทียบสีแทน โรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. มีไกด์สีระบบแพนโทน ของแท้นำเข้าจากอเมริกาทั้งหมด 2 ระบบ 4 เล่ม (PANTONE CMYK และ PANTONE Color Bridge) ลูกค้าสามารถมาเช็คสีและเทียบสีได้ที่โรงพิมพ์ครับ

8. ลูกค้าเทียบสีจากตัวอย่างที่พิมพ์จากพริ้นเตอร์

Printer สีที่ใช้กันตามออฟฟิศทั่วไปนั้น ใช้ระบบสี CMYK เหมือนกันกับการพิมพ์ออฟเซ็ทก็จริง แต่ด้วยความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในเรื่องของคุณสมบัติของหมึก ทำให้ไม่สามารถเทียบสีด้วยกันได้นะครับ หมึกพิมพ์ของพริ้นเตอร์อิงค์เจ็ททั่วไป ตัวหมึกจะเป็นสารละลายแบบน้ำผสมกับสี เวลาพิมพ์จะพ่นเป็นละอองเล็กจิ๋วออกมาแแบบ Droplet ลงไปบนกระดาษโดยตรง แตกต่างจากการพิมพ์ด้วยหมึกของระบบออฟเซ็ท หมึกของระบบออฟเซ็ทจะเป็นการผสม pigment เม็ดสีเข้าไปกับตัวปิโตรเลียม Solvent นี่ยังไม่นับด้วยว่าหมึกพริ้นเตอร์ของแต่ละยี่ห้อก็ให้สีไม่เหมือนกัน มีเรื่องของหมึกแท้ไม่แท้อีกด้วย ทำให้สีทั้งระบบสีเทียบสีกันไม่ได้ครับ

9. ประเภทของหน้าจอมอนิเตอร์ (Panel Type) และยี่ห้อ

หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าจอมอนิเตอร์ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ จริง ๆ แล้วเรามี panel type หรือประเภทของหน้าจออยู่ 3 แบบด้วยกัน ทั้ง 3 แบบมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ถ้าเราไม่ได้เป็นคนเลือกซื้อหน้าจอเอง แต่ใช้เครื่องที่บริษัททำงาน เราอาจจะไม่รู้เลยว่าเรากำลังใช้หน้าจอประเภทไหนอยู่ จอทั้ง 3 ได้แก่

  1. TN : เป็นจอที่มีราคาถูกที่สุด แสดงผลของสีได้น้อย ทำให้มีความแม่นยำเรื่องสีน้อยที่สุด และยังมีข้อจำกัดเรื่องมุมมองภาพ ถ้าไม่ได้มองหน้าจอจากด้านหน้าตรง ๆ แต่มองเอียง ๆ จากด้านข้าง จะทำให้เห็นสีผิดจากความเป็นจริงไปมาก แต่มีข้อดีคือ response time ดีมาก อยู่ที่ประมาณ 1ms เท่านั้น และอัตราการรีเฟรชเรทสูง ทำให้จอนี้เหมาะกับการเล่นเกมส์ ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในงานกราฟฟิค
  2. IPS : เป็นหน้าจอที่มีราคาแพงที่สุด มุมมองสูงสุดอยู่ที่ 178 องศา แปลว่า เราสามารถมองหน้าจอได้เกือบเอียงข้างโดยที่สียังไม่เพี้ยน ความแตกต่างของสี (Color depth) และความกว้างของช่วงสี (Color gamut) สูงที่สุด นั่นทำให้หน้าจอแบบ IPS นี้ เหมาะกับการใช้งานกราฟฟิคมากที่สุด
  3. VA : เป็นจอที่มีคุณภาพและราคาอยู่ในระดับกลาง มีความแตกต่างของสี (Color depth) และความกว้างของช่วงสี (Color gamut) กลาง ๆ ดีกว่าจอแบบ TN แต่ก็ยังแย่กว่าจอแบบ IPS จุดเด่นจริง ๆ ของจอแบบ VA คือการแสดงค่า Contrast ratio ของสีได้ดีมาก ทำให้การควบคุมแสงในช่วงความสว่างและความมืดทำได้ดี จอ VA นี้จึงเหมาะกับเอาไว้ใช้ดูหนัง และงานทั่ว ๆ ไป

เปรียบเทียบลักษณะหน้าจอ เวลามองต่างมุม

จะเห็นได้ว่า ชนิดของ panel ก็มีผลกับเรื่องสีที่เราเห็นบนหน้าจอด้วยเหมือนกัน ดังนั้นการเลือกหน้าจอให้เหมาะสมกับการทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญมากครับ ถ้าทำงานด้านกราฟฟิคดีไซน์ ยังไงก็ควรจะต้องทำงานกับหน้าจอประเภท IPS ไว้ก่อนครับ

10. ยี่ห้อจอมอนิเตอร์

นอกจากประเภทของ Panel Type แล้ว ยี่ห้อของจอมอนิเตอร์ก็มีผล แต่ละแบรนด์ก็มีลักษณะของสีตั้งต้นมาไม่เหมือนกัน บางยี่ห้อ บางรุ่น เช่น Dell รุ่นแพง ๆ จะมีการ calibrate สี ตั้งค่าสีให้มีความเที่ยงตรงมาจากโรงงานเลย ทำให้สีของหน้าจอไม่ค่อยเพี้ยนมาก ในขณะที่บางยี่ห้อ ก็เหมาะเอาไว้ดูหนังมากกว่าจะมาใช้งานด้านกราฟฟิค สำหรับใครที่ใช้ MacOS ผลิตภัณฑ์ iMac ของ Apple ทุกรุ่นในยุคหลัง ๆ ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ปรับมาใช้หน้าจอแบบ IPS แล้วทั้งหมด พร้อมกับ calibrate สีมาให้เรียบร้อย ทำให้หน้าจอของ Apple จึงเหมาะกับการใช้งานด้านกราฟฟิคเป็นอย่างมากครับ

หน้าจอโทรศัพท์ iPhone และ iPad ไม่รองรับระบบสี CMYK

ถึงหน้าจอ Mac ของทางแอปเปิลจะเหมาะกับการทำงานด้านกราฟฟิค  แต่ผลิตภัณฑ์อย่าง iPhone และ iPad กลับไม่เหมาะซะอย่างนั้น  หน้าจอของ iPhone และ iPad (รวมถึงหน้าจอมือถือบางยี่ห้อ) ไม่รองรับการแสดงผลด้วย profile สีบางประเภท รวมถึง Profile สี CMYK ด้วย นั่นทำให้เราไม่สามารถเปิดไฟล์งานที่ออกแบบในคอมพิวเตอร์ด้วยระบบสี CMYK ใน iPhone หรือ iPad ได้นะครับ คือเปิดดูได้ แต่สีจะเพี้ยนหนักมาก  รวมถึงการใช้แอพลิเคชั่นบางตัวในมือถือ ใน iPhone หรือ iPad ก็ไม่ได้ให้ค่าสีที่ถูกต้องและแม่นยำเท่ากับโปรแกรมใน PC หรือ Mac คือบางทีเราเลือกเป็น Code สีระบุรหัสถูกต้องแล้ว แต่สีที่เราเห็นผ่านจอไม่ถูกต้องเองต่างหาก ทางที่ดีควรจะเริ่มการออกแบบด้วย PC หรือ Mac จะดีกว่าครับ

สำหรับลูกค้าที่ซีเรียสเรื่องสีมาก ๆ ทางโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. แนะนำให้ลองเช็คทั้ง 10 ขั้นตอนที่แนะนำมานี้อย่างละเอียดนะครับ และปรึกษากับทางโรงพิมพ์เป็นระยะ เพื่อคุณภาพงานพิมพ์ที่ไม่ผิดเพี้ยน และถูกใจที่สุดครับ